ประวัติวัด




สถานที่ตั้ง     วัดสิงห์  เลขที่  ๓๕  หมู่ที่ ๓  ถนนเอกชัย  ซอยเอกชัย ๔๓   แขวงบางขุนเทียน   เขตจอมทอง   กรุงเทพมหานคร    สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย    ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๖  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งเมื่อวันที่  ๒๒  ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๑๓  เขตวิสุงคามสีมากว้าง  ๔๐  เมตร   ยาว  ๖๐  เมตร   มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่  ๑๘  ไร่  ๒  งาน  ๑๑  ตรางรางวา   โฉนดที่ดิน  เลขที่  ๔๐๑๐

อาณาเขต
  • ทิศเหนือยาว ๒๕๐ เมตร               ติดต่อกับทางรถไฟ
  • ทิศใต้ยาว  ๑๔๒  เมตร                 ติดกับคลองบางบอน
  • ทิศตะวันออกยาว  ๑๕๐ เมตร      ติดต่อกับที่ดินเอกชน
  • ทิศตะวันตกยาว  ๑๕๐  เมตร        ติดต่อกับคลองบางโคลัด
และยังมีที่ธรณีสงฆ์อีก ๑ แปลง   เนื้อที่ ๒๔ ไร่  ๑ งาน  ๗๕ ตรางวา   โฉนดที่ดิน  เลขที่  ๒๕๙
อาณาเขต
  • ทิศเหนือ              ติดกับถนนเอกชัย
  • ทิศใต้                   ติดกับทางรถไฟ
  • ทิศตะวันออก       ติดกับที่ดินเอกชน
  • ทิศตะวันตก          ติดกับทางซอยเข้าวัดสิงห์
             ที่ดินของวัด   วัดสิงห์มีที่ดินรวม ๔๓ ไร่เศษ   ในสมัยพระครูอุดมสิกขกิจเป็นเจ้าอาวาส  ได้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนโดยความอุปถัมภ์ของกระทรวงศึกษาธิการ   โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนวัดสิงห์”  ตามชื่อของวัด  และต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนสิงหราชพิทยาคม”   และต่อมาอีกเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์”   การใช้สถานที่สร้างโรงเรียนนี้  ได้ใช้เนื้อที่ดินของวัดไปประมาณ ๒๒ ไร่เศษ   และทางรถไฟได้ตัดผ่านในที่ดินของวัดสิงห์ไปอีกจำนวนหนึ่งประมาณ ๑ ไร่เศษ
            ประวัติของวัดสิงห์   ประวัติความเป็นมาของวัดสิงห์ไม่มีท่านผู้ใดรู้เป็นที่แน่นอนแต่เป็นวัดเก่าวัดหนึ่ง   ได้เรียนถามหารือท่านผู้ใหญ่ที่มีอายุมากๆ มาหลายท่าน   ท่านผู้ใหญ่ทุกท่านไม่กล้าออกความความเห็นที่แน่นอนได้  เป็นแต่ได้พูดเป็นแนวทางให้ความเห็นเป็นส่วนตัวของท่านว่า  วัดนี้บางสมัยก็พอจะดีขึ้นบ้าง  บางสมัยก็ดูทรุดโทรม  จนกระทั่งได้พบหนังสือเรื่อง “บางขุนเทียน  ส่วนหนึ่งของแผ่นดินไทยและกรุงรัตนโกสินทร์”      ซึ่งคัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ  น.ท.สุขุม  บุนปาน  ร.น.   มีข้อความเกี่ยวกับวัดสิงห์ที่ค้นคว้าโดยท่านผู้รู้พอที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังได้ดังนี้
            วัดสิงห์มีหลักฐานที่สำคัญทั้งโบราณวัตถุและโบราณสถานที่น่าสนใจหลายยุคหลายสมัย  โดยตัวโบสถ์หลังเก่าก่อผนังหนาทรงวิลันดาสมัยอยุธยา  หน้าบรรณปั้นปูนรูปลายพะเนียงประดับถ้วย  ตอนล่างหน้าบรรณปั้นลักษณะจำลองเขามอ  มีประตูเข้าออกด้านหน้า ๒ ช่องประตู  ด้านหลังไม่มีประตูและหน้าต่าง  คันทวยสลักด้วยไม้สวยงามมาก (ปัจจุบันกำลังบูรณปฏิสังขรณ์)  สำหรับใบเสมานั้นเข้าใจว่าจะสร้างในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ คล้ายกับที่วัดพรหมนิวาสน์ (วัดขุนญวน)  ที่หัวแหลม  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  มีอักษรจารึกใช้คำว่ากวางตุ้ง  ชื่อนายฮวด  ผู้สร้าง ด้วย   คิดว่าคงจะสั่งทำมาจากกวางตุ้งและได้ส่งอิทธิพลมายังสมัยรัชการที่ ๑  ในปัจจุบันทางวัดสร้างโบสถ์หลังใหม่และใช้เสมาเก่าเฉพาะที่สมบูรณ์ดีเท่านั้น  จากนี้จึงพบว่าที่โบสถ์เก่าใช้ลูกนิมิตเป็นก้อนหินธรรมชาติยังไม่ได้สกัดเกลาให้กลมแต่อย่างใด
            ส่วนพระประธานในโบสถ์เก่า  ทำด้วยก่ออิฐฉาบปูน  ลงรักปิดทอง   และมีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง    ซึ่งสมัยก่อนอยู่ในวิหารเก่า  ด้านหลังโบสถ์เก่า  แล้วได้ย้ายมาไว้ที่หน้าโบสถ์เก่า  ปัจจุนี้   ได้อัญเชิญขึ้นไว้ในวิหารหลังใหม่   และได้มาทราบตอนหลังนี้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นเนื้อหินทรายแดง (ศิลาแลง)   ลักษณะน่าจะเป็นพระสมัยสุโขทัย  หรือสมัยอยุธยาตอนต้น  เป็นพระพุทธรูปปางอู่ทอง นั่งขัดสมาธิ  มีร่องรอยทารักสีดำมาก่อนจนชาวบ้านเรียกว่า  “หลวงพ่อดำ” กันตลอดมา    เมื่อได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนฐานสุกชีในวิหารแล้ว  ก็จะลงรักปิดทอง  ช่างปิดทองได้ฉาบโป๊วแต่งองค์พระเพื่อให้องค์พระเรียบเนียนแล้วจึงจะลงรักปิดทองได้  เมื่อทำมาตามขั้นตอนแล้วปรากฏว่า ปูนและเคมีที่ฉาบโป๊วไว้นั้นยุ่ยเป็นขุยไม่ติด  และจะเปลี่ยนมุขและนิลที่พระเนตรของหลวงพ่อ ก็ปรากฏว่าเนื้อพื้นผิวยุ่ยอีก  ได้เคาะที่พระพักต์ของหลวงพ่อปรากฏเสียงดังเหมือนเป็นโพรงข้างใน  ก็ได้ค่อยๆเคาะสกัดออก  เมื่อวันที่  ๒๙  กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๔๗    เมื่อสกัดเนื้อปูนที่หุ้มอยู่ออกหนา ๒ เซ็นติเมตร   ก็ได้เห็นข้างในเป็นองค์พระที่ปิดทองไว้อีกชั้นหนึ่งค่อนข้างสมบูรณ์  และพระเนตรข้างในก็มีอีกชั้นหนึ่งยังคงสภาพที่ดีมาก  ริมพระโอฏฐ์ทาสีแดง  เจ้าอาวาสก็เลยให้ช่างสกัดเนื้อปูนที่หุ้มอยู่นั้นออกให้หมด  แล้วฉาบโป๊วเนื้อผิวองค์พระใหม่จึงลงรักปิดทองได้   ลักษณะของการที่คนสมัยนั้นได้ฉาบปูนทับองค์พระที่ปิดทองไว้  คนหลายคนส่วนมากเข้าใจว่า กลัวพวกคนพม่าจะมาทำลายองค์พระเพื่อเอาทองไป เมื่อครั้งที่พม่าเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา   ส่วนเจดีย์เหลี่ยมหน้าโบสถ์เก่านั้นน่าจะเป็นศิลปสมัยอยุธยาตอนต้น   นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดงสมัยอยุธยาอยู่บริเรณโคนต้นโพธิ์และต้นมะขามหน้าวิหารหลวงพ่อดำอีกมาก  ทั้งอิฐและเนื้อปูนที่ก่อฉาบตัวอาคารอุโบสถ์และวิหารเก่า
ตามที่กล่าวมานี้จึงพอเป็นแนวให้สันนิษฐานได้ว่า   วัดสิงห์นี้คงสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย  ก็ไม่สามารถที่จะระบุชี้ชัดลงไปให้เป็นที่แน่นอนได้   และคาดว่าคงจะมีอายุไม่ต่ำกว่า  ๓๐๐–๔๐๐ ปี อย่างแน่นอนตามหลักฐานวัตถุต่างๆ ที่ยังพอมีเหลือให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุนี้








             

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น